วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาววาสนา แบ้กระโทก ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ 3 นายจิรพันธ์ จันทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ 4 และบุคลากรสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 ร่วมแสดงสัญลักษณ์การป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน โดยมีการรับฟังการบรรยายออนไลน์ Conference ผ่านระบบ Zoom Meeting ถ่ายทอดไปยังจุดรับสัญญาณในหน่วยงานกรมส่งเสริมสหกรณ์ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ระหว่างเวลา 13.00 16.30 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 วิทยากรจากสำนักงาน ป.ป.ช. โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อป้องกันการทุจริตที่จะเกิดขึ้นในการปฏิบัติราชการ เนื่องจากการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นเรื่องที่ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานราชการ ควรต้องมีความรู้ ความเข้าใจ
ผลประโยชน์ทับซ้อน หรือ ความขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ ส่วนรวม (Conflict of interests : COI) เป็นประเด็นปัญหาทางการบริหารภาครัฐในปัจจุบันที่เป็นบ่อเกิดของปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในระดับที่รุนแรงขึ้น และยังสะท้อนปัญหาการขาดหลักธรรมาภิบาล และเป็น อุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ถือเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นประเภทหนึ่ง เพราะเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ ส่วนบุคคลโดยการละเมิดต่อกฎหมาย หรือจริยธรรม ด้วยการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ไปแทรกแซง การใช้ดุลยพินิจในกระบวนการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จนทำให้เกิดการละทิ้งคุณธรรมในการปฏิบัติหน้าที่สาธารณะ ขาดความเป็นอิสระ ความเป็นกลาง และความเป็นธรรม จนส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะของส่วนรวม ทำให้ผลประโยชน์ขององค์กร หน่วยงาน สถาบันและสังคม ต้องสูญเสียไป กอปรกับมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตเห็นชอบในหลักการ แนวทางการขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปที่สำคัญ (Big Rock) เรื่อง นโยบาย No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่ โดยหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญคือการปลูกจิตสำนึกหรือสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่จะไม่รับของขวัญหรือ ของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่
ดังนั้น หากข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขาดจิตสำนึกในหน้าที่ที่จะปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ มีการใช้อำนาจโดยมิชอบในการดำเนินกิจกรรมเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเอง กลุ่มพรรคพวก เพื่อนพ้อง เหนือผลประโยชน์ส่วนรวม ย่อมส่งผลกระทบต่อหน่วยงาน และสร้างความเสียหายต่อองค์กรได้ หน่วยงานภาครัฐจึงควรสร้างความตระหนักและหามาตรการป้องกันและแก้ไข ปัญหาเพื่อนำมาสู่การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและค่านิยม การสร้างจิตสำนึกและเสริมสร้างจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐในการทำงานเพื่อส่วนรวม ยึดถือหลักจริยธรรมและผลประโยชน์ส่วนรวมในการปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็นสำคัญ ทั้งนี้ มีความเกี่ยวเนื่องที่หน่วยงานภาครัฐต้องเข้ารับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ด้วย
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2565 สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 2
Copyright All reseve 2022
ภาพและวิดีโอ จากเว็บไซต์ freepik.com , pixabay.com , flation.com